พระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก แยกออกเป็น พระ–ไตร–ปิฎก หมายถึงคัมภีร์ที่รวบรวมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ ประกอบด้วย ๓ หมวดใหญ่ ๆ คือ พระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม
งานส่วนนี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(อาสภมหาเถร) สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย องค์ที่ ๒ ได้โปรดให้ทำการตรวจชำระและตีพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการ คือ :-
- ๑.๑.๑ เพื่อสนองพระราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ผู้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
- ๑.๑.๒ เพื่อให้มีพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการศึกษาและค้นคว้าของพระนิสิตและนักเรียนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ๑.๑.๓ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์มหามงคลสมัย ๒๕ พุทธศตวรรษ
เมื่อความส่วนนี้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทั้ง ๓ พระองค์ทรงเจริญพระราชศรัทธาได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ละ ๗๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นพระราชทรัพย์ ๒๑๐,๐๐๐ บาท พระราชทานให้เป็นทุนเบื้องต้นสำหรับตีพิมพ์พระไตรปิฎกต่อไป
การตรวจชำระและตีพิมพ์ดำเนินไปท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคนานัปการ แต่ก็สามารถดำเนินการตรวจชำระและตีพิมพ์ได้แล้วเสร็จเมื่อต้นปี
พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยตีพิมพ์จำนวน ๒,๕๐๐ ชุด ชุดละ ๔๕ เล่ม มีความหนารวมกันทั้งหมด ๒๑,๗๙๕ หน้า และนับเป็นหนังสือได้ ๑๑๒,๕๐๐ เล่ม
ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสตร์ในฐานะที่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้รับผิดชอบงานส่วนนี้ ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาขอใช้บริการด้วยดีมาโดยลำดับ และเป็นที่น่าภูมิใจว่า พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับ มหาจุฬาเตปิฏกํ นี้ได้รับความสนใจจากผู้ใฝ่ศึกษา อย่างแพร่หลายทั้งภายในและภายนอกประเทศ