ความเป็นมาของอรรถกถา
อรรถกถา หมายถึง ถ้อยคำที่เรียกกันว่า กถามรรค ทำหน้าที่อธิบายพระบาลีพุทธพจน์ เริ่มมีปรากฏตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา สมด้วยกับคำที่พระธรรมปาลเถระแห่งอินเดียใต้ ผู้มีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ กล่าวไว้ว่า
“ปฐมสงฺคีติยํ ยา อฏฺฐกถา สงฺคีตาติ วจเนน สา ภควโต ธรมานกาเลปิ อฏฺฐกถา สํวิชฺชติ. (อนุฏี. (บาลี) ๑/๑๓)
อรรถกถาที่พระสังคีติกาจารย์ร้อยกรองไว้ เมื่อคราวปฐมสังคายนา คือ อรรถกถาที่มีมาแต่สมัยที่พระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่”
อรรถกถานั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. พุทธสังวัณณิตอรรถกถา คือ อรรถกถาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไขความด้วยพระองค์เอง นิยมเรียกอรรถกถาประเภทนี้ว่า ปกิณณกเทศนา ต่อมาภายหลังพระสงฆ์สาวกจึงได้ถือเอาเป็นกถามรรคคือแบบอย่างในการอธิบายสืบทอดต่อๆ กันมา ในรูปของการสังคายนาเป็นต้น (ที.สี.ฏี. (บาลี) ๑/๑๘)
๒. อนุพุทธสังวัณณิตอรรถกถา หรือ สาวกสังวัณณิตอรรถกถา คือ อรรถกถาที่พระสาวกทั้งหลายมีพระอัครสาวกเป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ตามจนได้นามว่า “อนุพุทธะ” อธิบายไว้ (ที.สี.อ. (บาลี) -/๑/๑)
อรรถกถาทั้ง ๒ ประเภทนั้น จำแนกตามยุคและภาษาได้ ดังนี้
แบ่งตามยุคได้ ๒ ประเภท คือ
๑. โปราณอรรถกถา อรรถกถาเก่า
๒. อภินวอรรถกถา หรือสังคหอรรถกถา อรรถกถาใหม่
๑.๑ โปราณอรรถกถา
(ก) หมายถึงพุทธสังวัณณิตอรรถกถา กับอนุพุทธสังวัณณิตอรรถกถาซึ่งเป็นอรรถกถาที่อธิบายพุทธพจน์ด้วยภาษามคธ ที่พระสังคีติกาจารย์ได้ยกขึ้นทำการสังคายนาถึง ๓ ครั้ง ซึ่งต่อมาพระมหามหินทเถระผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำอรรถกถาดังกล่าวมาจากชมพูทวีป มาเผยแผ่ที่เกาะลังกาหรือประเทศศรีลังกา ภายหลังพระมหาเถระชาวสิงหลได้แปลอรรถกถานั้นเป็นภาษาสิงหลเพื่อหลีกเลี่ยงการกลืนจากลัทธินิกายอื่น
(ข) หมายถึง มหาอรรถกถา หรือมูลอรรถกถา หรือที่นิยมเรียกกันว่า สิงหลอรรถกถา ซึ่งได้รับการแปลไว้เป็นภาษาสิงหลภายหลัง
๒.๑ อภินวอรรถกถา หมายถึง อรรถกถาที่พระพุทธโฆสาจารย์แต่งไว้ และที่แปลจากมหาอรรถกถาและมูลอรรถกถา ซึ่งบันทึกไว้ด้วยภาษาสิงหล แบ่งตามภาษาได้ ดังนี้
๑. มคธอรรถกถา คือ อรรถกถาที่แต่งด้วยภาษามคธ ได้แก่
๑.๑ อรรถกถาที่มีมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และอรรถกถาที่พระมหามหินทเถระ นำมาสู่ประเทศศรีลังกา ภายหลังสังคายนาครั้งที่ ๓ (วชิร.(บาลี) ๓๗๔, สารตฺถ. (บาลี) ๓/๗)
๑.๒ อรรถกถาที่พระพุทธโฆสาจารย์, พระพุทธทัตตะ, พระธรรมปาละ,พระอุปเสนะ, พระมหานามเป็นต้น แปลจากภาษาสิงหลสู่ภาษามคธอีกครั้งหนึ่ง (มหาวํส (บาลี) ปริจฺเฉท ๓๗ คาถา ๒๔๔)
๒. สิงหลอรรถกถา (วิ.อ. (บาลี) ๑/๓. ที.สี.อ. (บาลี) -/๑/๑, วชิร. (บาลี) ๒๓, สารตฺถ. (บาลี) ๑/๒๕) คือ อรรถกถาภาษาสิงหล ได้แก่
๒.๑ มูลอรรถกถา ซึ่งนำมาจากชมพูทวีป โดยพระมหามหินทเถระและพระมหาเถระชาวสิงหลได้แปลเป็นภาษาสิงหลเพื่อหลีกเลี่ยงการกลืนจากลัทธินิกายอื่น และเพื่อสะดวกแก่การศึกษาของชนชาวสิงหล (ที.สี.อ. (บาลี) -/๑/๑)
๒.๒ มหาอรรถกถา หมายถึงอรรถกถาเกา่ ที่พระพุทธโฆสาจารย ์ ถือเป็นต้นแบบในการแต่งอภินวอรรถกถา
๒.๓ มหาปัจจรีอรรถกถา อรรถกถาที่รจนาบนแพ
๒.๔ กุรุนทีอรรถกถา อรรถกถาที่รจนาที่กุรุนทีวัลลิวิหาร
๒.๕ อันธกอรรถกถา อรรถกถาที่รจนาด้วยอันธกภาษา
๒.๖ สังเขปอรรถกถา อรรถกถาที่สังเขปมหาปัจจรีอรรถกถา
๒.๗ จูฬปัจจรีอรรถกถา สังเขปอรรถกถานั่นเอง
๒.๘ อริยอรรถกถา อรรถกถาที่รจนาด้วยภาษาอริยะ
๒.๙ ปันนวาร (อรรถกถา) อรรถกถาที่ประมวลข้อวินิจฉัยมหาอรรถกถา
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อความสังเขป ที่พระโบราณาจารย์ท่านได้แสดงไว้ตามคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลได้บ้างตามสมควร
ลำดับต่อแต่นี้ไปจักกล่าวถึงเฉพาะความเป็นมาของอรรถกถา ที่มีปรากฏอยู่ในยุคปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่ก็ขอกล่าวไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาเปรียบเทียบต่อไป
การอธิบายของอรรถกถา
การอธิบายของอรรถกถา แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. อธิบายพระบาลีตามลำดับแห่งปาฐะ
๒. อธิบายพระบาลีโดยย่อ ที่เรียกว่าสังเขปอรรถกถา
อรรถกถาที่อธิบายพระบาลี ตามลำดับแห่งปาฐะ คือ อธิบายพระบาลีที่พระธรรมสังคาหกาจารย์สังคายนาไว้ตามปาฐะ เช่น อธิบายปาฐะในพระวินัยตามลำดับกัณฑ์ ตามลำดับวรรค ตามลำดับสิกขาบท ตั้งแต่ต้นจนจบ (ปา. ปา. ม. จุ. ป.) อธิบายปาฐะในพระสูตรตามลำดับสูตร ตามลำดับนิกาย ตั้งแต่ต้นจนจบ (ที. ม. สํ. อํ. ขุ.) อธิบายปาฐะในพระอภิธรรม ก็อธิบายตามลำดับบทมาติกา ตามลำดับบทนิทเทส (สํ. วิ. ธา. ปุ. ก. ย. ป.) ตั้งแต่ต้นจนจบ อธิบายอย่างกว้างขวางพิสดาร
อรรถกถาที่อธิบายพระบาลีตามลำดับแห่งปาฐะ เช่น คัมภีร์สมันตปาสาทิกา (อธิบายพระวินัย) คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี (อธิบายทีฆนิกาย) ฯลฯ คัมภีร์ปัญจปกรณ์ (อธิบายพระอภิธรรม ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐาน)
อรรถกถาที่อธิบายพระบาลีโดยย่อนั้น เป็นอรรถกถาคัมภีร์เล่มนั้น อธิบายพระบาลีโดยย่อเฉพาะที่สำคัญ รวบรวมไว้ในคัมภีร์เดียวกัน อธิบายประมวลข้อความที่เป็นเนื้อหาสาระทั้ง ๓ ปิฎกบ้าง เฉพาะเรื่องบ้าง
ที่อธิบายประมวลทั้ง ๓ ปิฎก เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งย่อส่วนอรรถกถาของปิฎกทั้ง ๓ ไว้ในคัมภีร์เดียวกัน โดยอาศัยโบราณอรรถกถา ท่านพระพุทธโฆสาจารย์รวบรวมคำอธิบายข้อวินิจฉัยต่างๆ จากโบราณอรรถกถา มารจนาไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แม้บทขยาย บทวินิจฉัย หรือสาธกหลักฐานต่างๆ ล้วนมาจากโบราณอรรถกถาทั้งนั้นท่านมิได้รจนาโดยอัตโนมัติ แต่ท่านรจนาโดยแปลและเรียบเรียงจากโบราณอรรถกถาที่บันทึกไว้ด้วยภาษาสิงหล และท่านผู้รจนาก็ยืนยันว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎก ดังที่ท่านกล่าวไว้ในคำนิคมแห่งอรรถกถาแต่ละนิกายว่า
“คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นอรรถกถาที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงเพื่ออธิบายพระบาลีในนิกายทั้ง ๔ มีความยาว ๕๙ ภาณวาร ดังนั้น เมื่อจะรวบรวมภาณวารของอรรถกถา … จะต้องรวมภาณวารของคัมภีร์วิสุทธิมรรคเข้าด้วย” (ที.ปา.อ. (บาลี) -/-/๒๖๗, ม.อุ.อ. (บาลี) -/-/๒๕๙, สํ.อ. (บาลี) ๓/๓๙๓, องฺ.อ. (บาลี) ๓/๓๙๗)
สังเขปอรรถกถา อรรถกถาที่อธิบายพระบาลีโดยย่อนี้ ที่อธิบายเฉพาะเรื่องเช่น คัมภีร์กังขาวิตรณีอรรถกถา อธิบายพระวินัยเฉพาะศีลของภิกษุและภิกษุณี (ดูรายละเอียดการอธิบายในคำแนะนำคัมภีร์วินยสังคหอรรถกถา บทนำหน้า ๒๑-๒๗)
สังเขปอรรถกถานี้ แบ่งออกเป็น ๓ สาย ดังนี้
๑. สังเขปอรรถกถาสายพระวินัย คือ
– กังขาวิตรณีอรรถกถา อธิบายพระปาติโมกข์โดยย่อ
– วินยสังคหอรรถกถา อธิบายพระวินัยปิฎกโดยย่อ
– ขุททสิกขา อธิบายพระวินัยเป็นบทร้อยกรอง (คาถา)
– วินยวินิจฉยะ อธิบายพระวินัยเป็นร้อยแก้วผสมร้อยกรอง
– อุตตรวินิจฉัย อธิบายพระวินัยเป็นบทร้อยกรอง
๒. สังเขปอรรถกถาสายพระสูตร คือ
– วิสุทธิมรรค อธิบายปิฎกทั้ง ๓
๓. สังเขปอรรถกถาสายพระอภิธรรม คือ
– อภิธัมมาวตาร อธิบายพระอภิธรรมเป็นร้อยแก้วผสมร้อยกรอง
– อภิธัมมัตถสังคหะ อธิบายพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ ปกรณ์โดยย่อ
สังเขปอรรถกถา คัมภีร์อธิบายพระบาลีโดยย่อนี้ มีคัมภีร์ฎีกาอธิบายด้วยทั้ง ๓ ปิฎก พร้อมทั้งคัมภีร์ปกรณ์วิเสสด้วย
สำหรับรายชื่อคัมภีร์อภินวอรรถกถาทั้งที่ท่านพระพุทธโฆสเถระ และพระธรรมปาลเถระ เป็นต้นรจนาไว้ มีดังนี้
คัมภีร์อรรถกถาที่พระพุทธโฆสเถระรจนา
๑. วิสุทธิมรรค อธิบายพระไตรปิฎกโดยย่อ
๒. สมันตปาสาทิกา แก้พระวินัยปิฎก
๓. กังขาวิตรณีอรรถกถา แก้พระปาติโมกข์
๔. สุมังคลวิลาสินี แก้พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย
๕. ปปัญจสูทนี แก้พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย
๖. สารัตถัปปกาสินี แก้พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย
๗. มโนรถปูรณี แก้พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
๘. ขุททกปาฐอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก ขุททกปาฐะ
๙. ธัมมบทอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก ธรรมบท
๑๐. สุตตนิบาตอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก สุตตนิบาต
๑๑. ชาดกอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก ชาดก
๑๒. อปทานอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก อปทาน
๑๓. อัฏฐสาลินีอรรถกถา แก้พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี
๑๔. สัมโมหวิโนทนีอรรถกถา แก้พระอภิธรรมปิฏก วิภังค์
๑๕. ปัญจปกรณ์อรรถกถา แก้พระอภิธรรมปิฎก ๕ ปกรณ์ที่เหลือ
๑๖. ญาโณทยะ คัมภีร์แรกที่ท่านแต่ง
๑๗. ปริตตอรรถกถา อธิบายพระไตรปิฎกฉบับกะทัดรัด
คัมภีร์อรรถกถาที่พระพุทธทัตตเถระรจนา
๑. วินยวินิจฉยะ ประมวลข้อวินิจฉัยจากอุภโตวิภังค์และขันธกะ
๒. อุตตรวินิจฉยะ ประมวลข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับพระวินัยจากปริวารอรรถกถา
๓. อภิธัมมาวตาร อธิบายพระอภิธรรมโดยยอ่
๔. พุทธวังศ์อรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก พุทธวงศ์
คัมภีร์อรรถกถาที่พระธรรมปาลเถระรจนา
๑. อุทานอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก อุทาน
๒. อิติวุตตกอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก อิติวุตตกะ
๓. วิมานวัตถุอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก วิมานวัตถุ
๔. เปตวัตถุอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก เปตวัตถุ
๕. เถรคาถาอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก เถรคาถา
๖. เถรีคาถาอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก เถรีคาถา
๗. จริยาปิฎกอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก จริยาปิฎก
๘. เนตติอรรถกถา แก้เนตติปกรณ์
คัมภีร์อรรถกถาที่พระเถระรูปอื่นๆ รจนา
๑. ปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค รจนาโดยพระมหานามเถระ
๒. มหานิทเทสอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก มหานิทเทส รจนาโดยพระอุปเสนเถระ
๓. จูฬนิทเทสอรรถกถา แก้พระสุตตันตปิฎก จูฬนิทเทส รจนาโดยพระอุปเสนเถระ
๔. วินยสังคหอรรถกถา แก้พระวินัยปิฎกโดยประมวล รจนาโดยพระสารีบุตรเถระ ชาวลังกา
๕. มูลสิกขาอรรถกถา อธิบายพระวินัยปิฎกโดยย่อ รจนาโดยพระมหาสามี ชาวลังกา
๖. ขุททสิกขาอรรถกถา อธิบายพระวินัยปิฎกโดยย่อ รจนาโดยพระสัทธัมสิริเถระ ชาวลังกา
๗. อภิธัมมัตถสังคหะ อธิบายพระอธิธรรมปิฎกโดยย่อ รจนาโดยพระอนุรุทธเถระ ชาวลังกา
ความเป็นมาของอภินวอรรถกถา
ตามตำนานเล่าว่า ประมาณปี พ.ศ. ๙๐๐ เศษ ณ ตำบลพุทธคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาการหลายแขนง เช่น ไตรเพทและหลักปรัชญาของลัทธิต่างๆ ที่มีปรากฏในสมัยนั้น เป็นนักโต้วาทีผู้ยังไม่เคยปราชัยต่อใครๆ แต่อยู่มาวันหนึ่ง เกิดการโต้แย้งกับท่านพระเรวตเถระ ปรากฏว่าเขาแพ้ต่อพระเถระ จึงยอมตนเป็นศิษย์ และขอบวชเป็นพระภิกษุกับพระเถระ เพื่อต้องการศึกษาพุทธมนต์ ในที่สุดก็ได้ศึกษาพระไตรปิฎก จนมีความรู้แตกฉาน แต่ก่อนนั้นท่านมีชื่ออะไรไม่ปรากฏ ต่อมาเมื่อท่านแต่งปกรณ์ต่างๆ จนมีชื่อเสียง แล้วจึงได้รับการขนานนามว่า “พุทธโฆส” เพราะว่า ในสมัยนั้น ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด
ในช่วงที่ท่านอาศัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รจนาคัมภีร์ไว้ ๓ คัมภีร์ คือ
๑. ญาโณทยะ คัมภีร์แรกที่ท่านแต่ง
๒. อัฏฐสาลินีอรรถกถา แก้พระอภิธรรมปิฎกธัมมสังคณี
๓. ปริตตอรรถกถา อธิบายพระไตรปิฎกฉบับกะทัดรัด
เมื่อพระเรวตเถระทราบเรื่องจึงแนะนำให้ท่านเดินทางไปเกาะสิงหล เพื่อแปลอรรถกถา ด้วยว่าในยุคนั้นในชมพูทวีปมีเหลืออยู่เฉพาะพระบาลีไตรปิฎก ขาดอรรถกถาและอาจริยวาทต่างๆ ซึ่งคัมภีร์ที่ขาดอยู่นี้ จะหาได้แต่ที่เกาะสิงหลเท่านั้น
ดังนั้น พระพุทธโฆสาจารย์จึงเดินทางไปยังเกาะสิงหล และได้ศึกษาอรรถกถาตลอดถึงอาจริยวาทต่างๆ จนหมดสิ้น หลังจากนั้นจึงได้รจนาอรรถกถาใหม่(อภินวอรรถกถา) เริ่มต้นที่คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้น ( มหาวํส (บาลี) ปริจฺเฉท ๓๗ คาถา ๒๑๕-๒๔๔) โดยยึดอรรถกถาเก่า (โบราณอรรถกถา) เป็นต้นแบบแล้วตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่า “อภินวอรรถกถา” ส่วนอรรถกถาที่มีข้อความพิสดารยืดยาวมาก ท่านก็จะรจนาในเชิงเรียบเรียงตามของเดิม แต่ตัดข้อความอธิบายที่ซ้ำๆ กันออกเสีย เหลือไว้เพียงคำอธิบาย และข้อวินิจฉัยที่เห็นว่ามีประโยชน์จริงๆ โดยให้ชื่ออรรถกถาประเภทนี้ว่า “สังคหอรรถกถา”
อนึ่ง แม้อรรถกถาทั้งหลายที่ท่านอาจารย์รูปอื่น เช่น พระธรรมปาลเถระ พระอุปเสนเถระ รจนาไว้ ก็เป็น “อภินวอรรถกถา” เช่นกัน