อสา โลกิตฺถิโย นาม    เวลา ตาสํ น วิชฺชติ
สารตฺตา จ ปคพฺภา จ    สิขี สพฺพฆโส ยถา
ตา หิตฺวา ปพฺพชิสฺสามิ วิเวกมนุพฺรูหยนฺติ.

ขุ.ชา.(บาลี) ๒๗/๖๑/๑๕

(มาณพผู้เป็นศิษย์ของพระโพธิสัตว์เห็นโทษของหญิง จึงประกาศความประสงค์ของตนที่จะออกบวชว่า)
ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้ไม่น่ายินดี เพราะหญิงเหล่านั้น
ไม่มีขอบเขต มีแต่ความกำหนัด คะนอง เหมือนเปลว
ไฟไหม้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพเจ้าจักละทิ้งหญิงทั้งหลาย
เหล่านั้นไปบวชเพิ่มพูนวิเวก
ขุ.ชา.(ไทย) ๒๗/๖๑/๒๖

อสาตมันตชาดก เรื่องอสาตมนต์
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้สอนศิษย์เรื่องมายาหญิงโดยใช้มารดาตนผู้แก่หง่อมเป็นผู้แสดง ทำให้ศิษย์มองเห็นโทษของหญิงคิดออกบวชเพิ่มพูนวิเวกและได้ประกาศว่า ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้ไม่น่ายินดี เพราะพวกเธอไม่มีขอบเขต มีแต่ความกำหนัด คะนอง เหมือนเปลวไฟไหม้ทุกอย่าง
พระไตรปิฎกแก่นธรรม เล่มที่ ๔ ข้อ ๑ หน้า ๕๐๙

คำอธิบายในอรรถกถา
   อรรถกถาธิบายว่า บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ไม่น่ายินดี (อสา) ได้แก่ ไม่มีสติ ลามก อีกอย่างหนึ่ง ความสุข ท่านเรียกว่า สาตะ (น่ายินดี) ความสุขนั้นไม่มีในหญิงเหล่านั้น หญิงทั้งหลายให้ความไม่ยินดีนั่นเอง แก่คนผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในตน แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าไม่น่ายินดี อธิบายว่า เป็นความทุกข์ คือเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์
   คำว่า หญิงในโลก (โลกิตฺถิโย) คือ หญิงทั้งหลายในโลก คำว่า เพราะหญิงเหล่านั้นไม่มีขอบเขต (เวลา ตาสํ น วิชฺชติ) ความว่า แน่ะแม่ หญิงเหล่านั้นเกิดกิเลสแล้ว ไม่มีขอบเขต คือความสำรวม ได้แก่เขตแดนที่ชื่อว่าประมาณ
   คำว่า มีแต่ความกำหนัด คะนอง (สารตฺตา จ ปคพฺภา จ) ความว่า หญิงเหล่านั้นไม่มีขอบเขตมีแต่ความกำหนัด คือติดใจในกามคุณ ๕ ทั้งเป็นผู้คะนอง เพราะประกอบด้วยความคะนอง ๓ อย่างคือ คะนองกาย คะนองวาจา คะนองใจ หญิงเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีแต่ความคะนอง เพราะชื่อว่าความสำรวมที่ถึงกายทวารเป็นต้น ไม่มีในภายในของหญิงเหล่านั้น คือเป็นหญิงโลเล เปรียบดังกา
   คำว่า เหมือนเปลวไฟไหม้ทุกสิ่งทุกอย่าง (สิขี สพฺพฆโส ยถา) มีอธิบายว่า แน่ะแม่ ธรรมดาไฟที่นับว่า “เปลวไฟ” เพราะมีเปลวเป็นข่าย ได้เชื้อใดๆ เป็นของไม่สะอาด มีประเภทเป็นต้นว่าคูถก็ตาม จะเป็นของสะอาดมีประเภทเป็นต้นว่าเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยก็ตาม น่าปรารถนาก็ตาม ไม่น่าปรารถนาก็ตาม ก็แลบเลียกินเชื้อนั้นทั้งหมด เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่าไหม้ทุกสิ่งทุกอย่าง


ขุ.ชา.อ.(บาลี) ๒/๖๑/๖๘-๖๙
ขุ.ชา.อ.(ไทย) ๒/๖๑/๖๘-๖๙