"ความเป็นมาของการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก และ อรรถกถา ภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย"
แสวง อุดมศรี
พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์หลักที่มีความสำคัญที่สุดต่อพระพุทธศาสนา เพราะได้ประมวลพระพุทธพจน์อันเป็นสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้อย่างครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด ยิ่งกว่าคัมภีร์อื่นใด นอกจากนี้ พระไตรปิฎก ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงวัสสายุกาลของพระพุทธศาสนาว่าได้อุบัติขึ้น และดำรงอยู่สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานเพียงใด ดังนั้น พระไตรปิฎก จึงนับเป็นมรดกอันล้ำค่าที่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าทั้งที่เป็น บรรพชิต และคฤหัสถ์ควรจะได้ช่วยกันเชิดชู ทะนุบำรุง และหมั่นศึกษาพระปริยัติสัทธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วเพิ่มพูนพระปฏิบัติสัทธรรมให้เกิดมีขึ้นในจิตใจของตน ๆ เพื่อจะได้เป็นปัจจัยให้ได้ดื่มอมตรสแห่งพระปฏิเวธสัทธรรมชั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยชั้นเดิมพระราชทานนามว่า มหาธาตุวิทยาลัย และได้เปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา ครั้นถึงวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้โปรดพระราชทานเปลี่ยนนาม มหาธาตุวิทยาลัย เป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป*(* ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ แผ่นที่ ๒๔ วันที่ ๒๐ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕. น. ๒๖๓-๒๖๘)
ต่อมาวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระมหาเถรานุเถระฝ่ายมหานิกายทั่วราชอาณาจักรจำนวนทั้งหมด ๕๗ รูป ได้ประชุมร่วมกัน ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ โดยมีพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุองค์ที่ ๑๕ เจ้าคณะตรวจการภาค ๑ และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ เป็นประธาน เพื่อปรึกษาหารือในอันที่จะเปิดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่รัชกาลที่ ๕ ผลการประชุมปรึกษาหารือปรากฏว่า ทุกท่านต่างมีความเห็นร่วมกันเป็นสมานฉันท์ให้เปิดสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยต่อไป และได้เปิดการศึกษาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ตราบเท่าปัจจุบัน ซึ่งการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ สามารถเอื้ออำนวยคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาติจนสุดที่จะคณานับได้ ดังเป็นที่ประจักษ์กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มหาจุฬาเตปิฏก หรือที่เรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เกิดขึ้นจากความดำริ และความปรารถนาอันแรงกล้าของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ในอันที่จะสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎก และวิชาชั้นสูงสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย กล่าวคือในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๖) ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จ ฯ ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม และดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ได้รับมอบหมายจากคณะสังฆมนตรีให้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยเดินทางไปประเทศสหภาพพม่า เพื่อร่วมกับพระมหาเถระจากประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทพิจารณาโครงร่างงานฉัฏฐสังคายนา โดยรัฐบาลและคณะสงฆ์ของประเทศสหภาพพม่าได้เตรียมงานส่วนนี้ไว้ล่วงหน้า ก่อนจะถึงกำหนดการประกอบพิธีฉัฏฐสังคายนา ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๗ -๒๕๐๐
การพิจารณาโครงร่าง ฯ ดังกล่าว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ และพระมหาเถระจาก ประเทศต่าง ๆ มีความเห็นร่วมกันว่า ขอให้รัฐบาลของประเทศสหภาพพม่าแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเรียกชื่อว่า คณะกรรมการฉัฏฐสังคายนาโอวาทาจริยสังฆนายก โดยขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลและคณะสงฆ์ จากประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ไทย ลาว และเขมร เพื่อให้ส่งผู้แทนไปร่วมเป็นกรรมการพิจารณาเตรียมการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น* (* กรมการศาสนา : ประวัติพระพุทธศาสนาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ภาค ๒, โรงพิมพ์การศาสนา,พ.ศ. ๒๕๒๕, น. ๒๘๔-๒๘๗) คือ
๑. ขั้นเตรียมงาน คือ การรวบรวมพระคัมภีร์จากประเทศของตน ๆ พร้อมทั้งดำเนินการตรวจชำระพระคัมภีร์นั้น ๆ ให้ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด
๒. ขั้นปฏิบัติการ คือ การเปรียบเทียบ พระคัมภีร์ฉบับต่าง ๆ เช่น ฉบับของไทย ฉบับของพม่า ฉบับจารึกหินอ่อนที่มันดะเล ฉบับของสิงหล และฉบับของอังกฤษ คือฉบับ Pali Text Society
๓. ขั้นรับรอง คือการประกอบพิธีรับรอง งานที่ได้จัดทำไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้คณะสังฆมนตรีทราบ พร้อมทั้งเสนอขออนุมัติจากคณะสังฆมนตรีเพื่อให้ส่ง พระธรรมธีรราชมหามุนี (ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ปุณฺณกมหาเถร) วัดจักรวรรดิราชาวาส เดินทางไปร่วมเป็นกรรมการฉัฏฐสังคายนาโอวาทาจริยสังฆนายก ตามที่รัฐบาลของประเทศสหภาพพม่ามีหนังสือขออาราธนามา คณะสังฆมนตรีได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และมีมติให้ส่งพระสงฆ์ไทยจำนวน ๕ รูป เข้าร่วมเป็นกรรมการดังกล่าว โดยมอบหมายให้พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็น หัวหน้าคณะ ซึ่งพระธรรมธีรราชมหามุนีพร้อม ด้วยพระอนุจรอีก ๑ รูป ได้ออกเดินทางจาก ประเทศไทยไปประเทศสหภาพพม่า เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ส่วนพระสงฆ์ไทย อีก ๔ รูปนั้น คณะสังฆมนตรีจะพิจารณาคัดเลือกส่งตามไปในภายหลัง
จากนั้นเป็นต้นมา คณะสงฆ์ไทยหลาย คณะก็ได้เดินทางไปร่วมงานฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น นอกจากจะเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวมากที่สุดถึง ๑๖ ครั้งแล้ว ท่านยังเป็นกำลังสำคัญที่สุดรูปหนึ่งในการประสานงานให้การประกอบพิธีฉัฏฐสังคายนาครั้งนั้นสำเร็จลุล่วงลงด้วยดีตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ จนท่านกลายเป็นพระมหาเถระชาวไทยรูปแรกที่รัฐบาลและคณะสงฆ์ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ชาวพม่าพากันถวายความเคารพนับถือด้วยความสนิทใจ และพลอยทำให้รัฐบาลและคณะ สงฆ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีความคลางแคลงใจกันมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ได้หันกลับมามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันสืบต่อมาตราบเท่าปัจจุบันอีกด้วย
การมีโอกาสเดินทางไปร่วมงานฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าตั้งแต่เบื้องต้นติดต่อกันมานั้น ทำให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เริ่มประจักษ์แก่ใจมากขึ้นว่าพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นมา ก็เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง แต่พระไตรปิฎกของไทยเรายังขาดความสมบูรณ์และมีความคลาดเคลื่อนอยู่หลายแห่ง น่าจะได้มีการตรวจชำระ และจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ให้เป็นฉบับของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้มีความสมบูรณ์และอำนวยความสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าของพระนิสิตและนักเรียนมหาจุฬา ฯ ต่อไป แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้ศาสนบัณฑิต ผู้มีความรู้ และเงินเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควร ปล่อยวางหรือเพิกเฉยโดยไม่คิดทำอะไรเลย ถ้าจะค่อยทำค่อยไปก็น่าจะทำให้การตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับนี้สำเร็จลงได้เหมือนกัน
ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๙ คณะพระเปรียญที่อยู่จำพรรษา ณ วัดต่าง ๆ ทั้งใน พระนครและธนบุรีได้รวมตัวกันก่อตั้ง สภาเปรียญแห่งประเทศไทย ขึ้นมา เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติในวงกว้างออกไป โดยพระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป ป.ธ. ๙ (ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระปิฎกโกศล เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ ต่อมาลาสิกขา คือนายพิทูร มลิวัลย์ ถึงแก่กรรมแล้ว) วัดมหาธาตุ ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาเปรียญแห่งประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อบริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ๔ ประการ* (*ระเบียบข้อบังคับสภาเปรียญแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์การพิมพ์พาณิชย์,พ.ศ. ๒๕๐๑, น. ข-ค) คือ
๑. เพื่อเป็นศูนย์สัมพันธ์และส่งเสริมสามัคคีธรรมของเปรียญทั่วประเทศ
๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการศึกษาและเกียรติฐานะของเปรียญ
๓. เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมสังคหธรรม
๔. เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแผ่ศาสนธรรมทั้งในและนอกประเทศ ภายหลังจากที่ได้ประกาศใช้ระเบียบข้อบังคับสภาเปรียญแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้ว พระเถระผู้ใหญ่หลายรูปต่างมีความปริวิตกเป็นอย่างมากด้วยเกรงว่า สภาเปรียญแห่ง ประเทศไทยจะเป็นชนวนก่อปัญหาให้การปกครอง คณะสงฆ์เกิดความยุ่งยากมากขึ้น จึงได้ขอร้องเป็นการส่วนตัวให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองอยู่ในขณะนั้น ได้ช่วยติดตามและควบคุมการดำเนินกิจกรรมของสภาเปรียญแห่งประเทศไทย อย่างใกล้ชิดด้วย
ต่อมาท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้เรียก พระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป มาพบ และสอบถามว่าพวกเธอมีความคิดอย่างไรจึงพากันตั้งสภาฯ นี้ขึ้นมา จะพากันทำอะไร จะเอาสำนักงานไปตั้งอยู่ที่ไหน พระผู้ใหญ่ไม่สบายใจต่อการกระทำของพวกเธอมาก และคงไม่มีใครอนุญาตให้สำนักงานของพวกเธอไปตั้ง อยู่ในวัดของเขาหรอก แต่ภายหลังจากที่ พระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป ได้กราบเรียนถึง แนวความคิด วัตถุประสงค์และข้อเท็จจริงทุกอย่างให้ทราบโดยละเอียดแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงกล่าวว่า เอาอย่างนี้ ให้เธอไปรวบรวมเพื่อนๆ ที่เป็นเปรียญสูงๆ มา จะยังเป็นพระอยู่หรือลาสิกขาไปแล้วก็ได้ หลวงพ่อจะมอบหมายให้พวกเธอช่วยกันตรวจชำระพระไตรปิฎกและอรรถกถาให้เป็นฉบับของมหาจุฬาฯ ขอให้ช่วยกันตรวจชำระให้มีความสมบูรณ์และสะดวกต่อการศึกษาค้นคว้าเช่นเดียวกับพระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐ สังคายนาให้ได้ ส่วนเงินค่าใช้จ่ายในการตรวจชำระและจัดพิมพ์นั้นหลวงพ่อจะรับผิดชอบเอง หลวงพ่อเชื่อมั่นว่างานที่มอบหมายให้พวกเธอทำนี้ จะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติต่อไปในอนาคต และคงไม่มีพระผู้ใหญ่รูปใดตั้งข้อรังเกียจอย่างแน่นอน เมื่อผู้มีศรัทธาทราบเรื่องนี้แล้วก็มีแต่จะพากันนำเงินมาถวาย ข้อสำคัญขอให้พวกเธอเสียสละเวลามาช่วยกันทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ ก็แล้วกัน
พระมหาพรหมา ปญฺญาทีโป ได้ติดต่อรวบรวมเพื่อนๆ และผู้ที่เคารพนับถือทั้งที่ เป็น บรรพชิตและคฤหัสถ์หลายท่าน เช่น พระครูสุวิมลธรรมาจารย์ วัดมหาธาตุ (พระสุวิมลธรรมาจารย์ : ผ่อง สุวิมุตฺโต ป.ธ.๖ มรณภาพแล้ว) พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙ วัดสระเกศ (ปัจจุบัน คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อุปเสณมหาเถร) พระมหาพลอย ญาณสํวโรป.ธ. ๙ วัดเทพธิดาราม (ปัจจุบันคือ พระสุทธิวงศาจารย์ ญาณสํวรเถร) พระมหาบุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ. ๙ (ปัจจุบันคือ พระธรรมวโรดม คุณสมฺปนฺนเถร)นายทอง หงส์ลดารมย์ ป.ธ. ๖ นายเกษม บุญศรี ป.ธ. ๗ นายทินกร ทองเศวต ป.ธ. ๙ และนายสิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙ เป็นต้น จากนั้นจึงได้นำรายชื่อกราบเรียนเสนอแด่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งท่านก็ให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการได้ โดยให้ใช้หอปริยัติ คณะ ๑ วัดมหาธาตุ เป็นสถานที่ตรวจชำระต่อไป
วัตถุประสงค์
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ และผู้มีรายชื่อดังกล่าว ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเป็นเบื้องต้น และต่างมีความคิดเห็นร่วมกันว่า พระไตรปิฎก ที่จะตรวจชำระและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่นี้ให้ชื่อว่า มหาจุฬาเตปิฏก หรือเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์ไว้ ๓ ประการ* (* นิทานพจน์พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, น. ค-ฆ) คือ
๑. เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชา ชั้นสูงสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
๒. เพื่อให้มีพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์และ มีปริมาณเพียงพอต่อการศึกษาและค้นคว้าของ พระนิสิตและนักเรียนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๓. เพื่อให้เป็นอนุสรณ์มหามงคลสมัย ๒๕ พุทธศตวรรษ
หลักเกณฑ์การตรวจชำระ
การตรวจชำระ มหาจุฬาเตปิฏก หรือ ที่เรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจชำระไว้ว่าให้ทำการตรวจสอบเทียบเคียงอย่างละเอียดถี่ถ้วนกับพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ เช่น พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา พระไตรปิฎกฉบับอักษรสิงหล และพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันของ Pali Text Society เป็นต้น เพื่อให้พระไตรปิฎกฉบับที่ตรวจชำระขึ้นใหม่นี้มีความสมบูรณ์และถูกต้องที่สุด ทั้งอรรถและพยัญชนะ พร้อมทั้งพิจารณาตั้งย่อหน้าให้มากขึ้น และตั้งชื่อวรรค ชื่อสูตรไว้ให้ปรากฏชัดเจน เพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าของพระนิสิตนักเรียนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและผู้ที่สนใจจะศึกษาค้นคว้าได้ง่ายขึ้นส่วนกรณีที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้าน เนื้อความและการใช้ศัพท์ของพระไตรปิฎกแต่ละฉบับ เมื่อตรวจสอบแน่นอนแล้ว ก็ให้ทำเชิงอรรถบอกที่มาของพระไตรปิฎกฉบับนั้นๆ กำกับไว้ให้ชัดเจน โดยกำหนดให้ใช้อักษรย่อในการทำเชิงอรรถของพระไตรปิฎกแต่ละฉบับ ไว้ดังต่อไปนี้
สงฺเกตวิญฺญาปนํ
นอกจากนี้ก็ได้พิจารณาถึงการใช้เครื่องหมาย บังคับอักษรตัวสะกดและตัวสังโยคควบกล้ำ ซึ่งในการปริวรรตพระไตรปิฎกฉบับอักษรขอม มาเป็นฉบับอักษรไทยปัจจุบันที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น ได้กำหนดให้ใช้เครื่องหมาย ” อ์ “ (ไม้วัญฌการหรือไม้ทัณฑฆาต) บังคับอักษรตัวสะกด เช่น กิจ์จํ, ตัป์ปติ ปุจ์ฉิส์สามิ ฯลฯ และกำหนดให้ใช้เครื่องหมาย ” “ (ไม้ยมักการ) บังคับอักษร ตัวสังโยคควบกล้ำ เช่น กัตวา ปัญหํ พราหมโณ ฯลฯ แต่ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งต่อๆ มา ได้กำหนดให้ใช้เครื่องหมาย ” . “(พินทุ) วางไว้ใต้อักษรทั้งที่เป็นตัวสะกดและตัวสังโยคควบกล้ำเหมือนกัน เช่น กิจ์จํ เขียนเป็น กิจฺจํ, ตัป์ปติ เขียนเป็น ตปฺปติ, ปุจ์ฉิส์สามิ เขียนเป็น ปุจฺฉิสฺสามิ ฯลฯ และ กัตวา เขียนเป็น กตฺวา, ปัญหํ เขียนเป็น ปญฺหํ, พฺราหมฺโณ เขียนเป็น พฺราหฺมโณ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อตกลงในหลักการร่วมกันเกี่ยวกับ การตั้งชื่อ กำหนดวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์ไว้อย่างเป็นกิจลักษณะแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ได้มีลิขิตถวายพระพรแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อทรงนำความกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยรับโครงการตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโอกาสอันควรต่อไป จากนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่งตั้งศาสนบัณฑิตผู้ทรงคุณวุฒิทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งมีรายชื่อส่วนหนึ่งดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ให้เป็นคณะกรรมการตรวจชำระและจัดพิมพ์มหาจุฬาเตปิฏก หรือพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่อไป โดยเริ่มดำเนินการตรวจชำระตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้นิมนต์และเชิญคณะกรรมการฯ ชุดนี้มาประชุม โดยให้ นโยบายและฝากความหวังไว้ว่า การตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เริ่มทำกันมานานแล้ว แต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคเข้ามาขัดจังหวะอยู่เสมอๆ ทำให้งานต้องหยุด ชะงักเป็นช่วงๆ และยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ ขอให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ช่วยกันตรวจชำระให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้พระไตรปิฎกฉบับนี้ มีความสมบูรณ์และถูกต้องมากที่สุด ถ้าทุกท่านมองเห็นประโยชน์ร่วมกันและยอมเสียสละ เวลาทำงานกันอย่างจริงจังแล้ว การตรวจชำระ และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับนี้ ก็คงสำเร็จสมบูรณ์ได้ภายในเวลาไม่นานนัก เชื่อว่าตั้งแต่ บัดนี้เป็นต้นไปคงจะไม่มีปัญหาและอุปสรรค อะไรเข้ามาขัดขวางอีกแล้ว
คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ได้ร่วมกันตรวจ ชำระด้วยความเสียสละอย่างจริงจัง กอปรด้วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ หมั่นติดตาม สอบถามผลการดำเนินงานอยู่เสมอๆ จึงทำให้คณะกรรมการฯ ต้องเร่งทำงานให้รวดเร็วเพิ่มมากขึ้น เล่มใดตรวจชำระเสร็จสมบูรณ์ แล้วก็จัดส่งเข้าโรงพิมพ์เพื่อตีพิมพ์ต่อไป โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) รับหน้าที่เป็นผู้หาทุนมาเป็นค่าตีพิมพ์ไปในตัว ด้วย ส่วนพระเมธีสุทธิพงศ์ (ระวัง วชิรญาโณ) รับผิดชอบควบคุมงานตรวจชำระและจัดพิมพ์ ตลอดจนการพิสูจน์อักษร การดำเนินงานแต่ละขั้นตอนดังที่ได้กล่าวมานี้ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ความละเอียดรอบคอบ ความรับผิดชอบ และความเสียสละอย่างสูง เพื่อให้พระไตรปิฎก ฉบับนี้มีความสมบูรณ์และถูกต้องมากที่สุดเป็นสำคัญ |